Ergonomics in the laboratory

ความถูกต้องเหมาะสมทุกสิ่งสรรพสำหรับห้องปฏิบัติการ (ภายในอาคารและแบบแผนห้อง) Ergonomics in the laboratory

(Inside the building and floor plan)

      ทีมที่ออกแบบอาคารหรือห้องปฏิบัติการ จะต้องประกอบด้วยบุคคลต่างสาขาที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ดังเช่น สถาปนิกช่างออกแบบ วิศวกร พนักงานรังวัด หรือพนักงานสำรวจ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบห้องปฏิบัติการโดยเฉพาะ รวมทั้งผู้ที่ทราบถึงอันตรายต่างๆ ของงานที่จะทำในสถานที่นั้น บุคคลนี้ควรจะเป็นผู้ที่จะปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าวต่อไปในอนาคต การออกแบบจะมีหลายขั้นตอนกว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ผู้ใช้ยอมรับแล้ว 

     เครื่องมือต่างๆ หรือโต๊ะปฏิบัติการส่วนใหญ่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดังนั้นห้องที่จะวางสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ควรจะเป็นสี่เหลี่ยมด้วยมิฉะนั้นนอกจากจะเสียพื้นที่เป็นอย่างมากแล้ว ยังจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายในห้องปฏิบัติการเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องด้วย  การปวดเมื่อยเนื่องจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากสภาพการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ร่างกายของเรามีข้อจำกัดในการยึดเอื้อม ก้ม หรือยก ฯลฯ

     การออกแบบห้องหรืองานที่ทำต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆเหล่านี้ด้วย  การออกแบบส่วนใหญ่จะทำไว้ให้เหมาะสมกับบุคคลทั่วไป  (โดยเฉลี่ย )  ถ้าท่านไม่ได้อยู่ในช่วงของบุคคลทั่วไปท่านต้องหาอะไรมาช่วยทดแทนให้สภาพการทำงานเหมาะสมสำหรับท่าน เช่น การนั่งเก้าอี้ ถ้าเท้าไม่สามารถวางเรียบไปกับพื้น แสดงว่าเก้าอี้สูงเกินไปก็ควรหาที่วางเท้า เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ergonomics

     มาตรฐานออสเตรเลียได้กำหนดระยะระหว่างโต๊ะปฏิบัติการไว้เพื่อให้การทำงานมีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ทำงานและผู้จำเป็นต้องเดินผ่านไปมาด้วย ห้องปฏิบัติการไม่ควรให้มีผู้เดินผ่านไปมา  โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา หรือห้องปฏิบัติการรังสี ความสูงของโต๊ะปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นแบบนั่ง หรือยืนทำงานก็จะแตกต่างกัน  ความกว้างของพื้นที่ทำงาน ตำแหน่งก๊อกน้ำ ก๊อกแก๊ส ปลั๊กไฟ รวมทั้งความลึกของอ่างน้ำบนโต๊ะจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ถ้าไม่ได้ระยะที่เหมาะสม จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และยังมีผลเสียต่อสุขภาพด้วย

ตัวอย่างของการจัดแผนภูมิ (Floor Plan) ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์

1. ระยะห่างระหว่างโต๊ะ

    1.1 ถ้าไม่มีการเดินผ่าน ระยะห่าง 1.00 เมตร

    1.2 ทำงานด้านเดียว มีการเดินผ่าน ระยะห่าง 1.20 เมตร

    1.3 ทำงานสองด้าน ไม่มีการเดินผ่าน ระยะห่าง 1.35 เมตร

    1.4 ทำงานสองด้าน มีการเดินผ่าน ระยะห่าง 1.80 เมตร

2. ความกว้างของโต๊ะ

    ส่วนใหญ่มีความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร และไม่ควรเกิน 75 เซนติเมตร เพราะจะทำให้เอื้อมหยิบของไม่ถึง  ถ้าเป็นโต๊ะกลางทำงาน 2 ด้าน จะมีความกว้าง 1.0 - 1.5  เมตร ถ้ามีหิ้งตรงกลางโต๊ะไม่ควรสูงเกินเอื้อม

ขอขอบคุณ Dr. Prapaipit C. Ternai ( Laboratory Safety Design and Consultant ) ที่อนุญาตให้นาเนื้อหาส่วนหนึ่งของวารสาร The Lab มาเผยแพร่