หลักการเก็บสารเคมีให้ปลอดภัย

 

สวัสดีเพื่อนทุกท่านนะครับ วันนี้จะขอแชร์ข้อมูลดีๆที่คำนึงความถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงานในห้องแลบ เรื่อง "หลักการเก็บสารเคมีให้ปลอดภัย"

  1. ภาชนะเก็บสารเคมีทั้งหมดต้องมีการติดฉลากอย่างถูกต้อง ทั้งชื่อสาร และข้อควรระวังรวมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
  2. แยกเก็บสารเข้ากันไม่ได้ โดยแยกกลุ่มประเภทของสารอันตราย เพื่อไม่ให้สารเกิดปฏิกิริยากันขึ้นมาเองได้
  3. อย่าเก็บสารเรียงตามลำดับตัวอักษร นอกจากจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
  4. วัสดุไวไฟควรเก็บในตู้สำหรับเก็บสารไวไฟ  หรือถ้าปริมาตรเกิน 38 ลิตร  ต้องเก็บในห้องเก็บสาร ห้ามเก็บในห้องปฏิบัติการ ตู้เก็บสารต้องปิดอยู่ตลอดเวลา
  5. สารเคมีจะต้องถูกเก็บในความสูงไม่เกินระดับสายตา ไม่เก็บบนหลังตู้ ไม่แออัด และต้องมีราวกันตกทุกชั้น
  6. ชั้นวางสารเคมีควรมีระยะห่างเพียงพอที่จะเก็บภาชนะขนาดใหญ่ที่สุดได้  และต้องไม่มีการเอียงขวดสารขณะนำเข้าหรือยกออกจากชั้น เพราะการเอียงภาชนะจะทำให้เกิดการไหลหยดหรือรั่วได้
  7. ห้ามวางสารเคมีบนพื้น แม้จะเป็นการชั่วคราว และต้องไม่วางไว้ตามทางเดิน
  8. ของเหลวควรเก็บในขวดที่ไม่แตกง่ายหรือใช้ภาชนะสองชั้น ภายในตู้เก็บสารต้องมีถาดที่สามารถรองรับความจุของเหลวดังกล่าวได้ ถ้าภาชนะแตก
  9. จุกและฝาขวดต้องปิดให้สนิท เพื่อป้องกันการรั่วหรือการระเหยของสาร
  10. กรดอนินทรีย์ควรเก็บในตู้เก็บกรดหรือสารกัดกร่อนโดยเฉพาะ  กรดไนตริกอาจเก็บในตู้เดียวกันได้ แต่ต้องแยกส่วนให้ไกลจากกรดอื่นๆ ภายในตู้  ส่วนประกอบของตู้ (ประตู บานพับ และขอบรับชั้น) จะต้องทนทานต่อการ          กัดกร่อนของสารเคมี  ตู้เก็บสารกัดกร่อน สามารถวางไว้ใต้ตู้ดูดไอระเหยสารเคมี หรือจะวางแยกได้  แต่ตู้เก็บสารไวไฟ จะไม่ทนการกัดกร่อนของสารเคมี และไม่ควรใช้ในการเก็บกรดอนินทรีย์
  11. สารพิษหรือสารควบคุมต้องเก็บในตู้เฉพาะสำหรับสารพิษนั้น และสามารถล็อคได้
  12. สารที่ระเหยง่ายหรือมีกลิ่นเหม็นมากควรเก็บในตู้ที่มีการระบายอากาศ ตู้ดูดไอระเหยสารเคมีไม่ใช่สถานที่เก็บสาร เพราะการวางภาชนะบรรจุสารจะลดพื้นที่ทำงาน และรบกวนการไหลของอากาศเข้าไปภายในตู้ด้วย
  13. สารเคมีทั้งหมดต้องมีการบันทึกวันที่รับเข้ามา และวันที่เปิดขวด โดยเฉพาะสารที่สามารถเกิดเปอร์ออกไซด์ได้ เช่น อีเทอร์ ไอโซโพรพานอล และเตตราไฮโดรฟิวแรน สารละลายต้องมีการติดฉลากพร้อมระบุวันที่ที่เตรียมขึ้นมาด้วย
  14. สังเกตถึงสภาพที่ไม่ปกติภายในพื้นที่เก็บสารเคมี เช่น การเก็บที่ไม่ถูกต้อง  การรั่วหรือเสื่อมของภาชนะ สารเคมีหก อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำจนเกินไป ความสว่างที่ไม่เพียงพอ  มีสิ่งของกั้นขวางทางเข้าออกหรือทางเดิน  ประตูห้อง    ปิดไม่ได้  ขาดวิธีการการรักษาความปลอดภัย  มีขยะของเสียสะสม  มีสายไฟเปลือยหรือไม้ขีด  เครื่องมือดับเพลิงถูกขวางกั้น ชำรุด หรือหายไป  ไม่มีป้ายคำเตือน เช่น ของเหลวไวไฟ กรด สารกัดกร่อน สารเป็นพิษ ฯลฯ
  15. ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล โทรศัพท์ฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉิน และที่ล้างตัวฉุกเฉิน ที่ดับเพลิง ชุดทำความสะอาดสารหก และ PPE  โดยจะต้องมีการฝึกการใช้อุปกรณ์ต่างๆด้วย
  16. สารเคมีที่เก็บในตู้เย็นกันระเบิดหรือห้องเย็น ต้องปิดฝาให้สนิทแน่นหนา และมีการระบุชื่อบุคคลที่รับผิดชอบ พร้อมอันตรายของสารนั้นด้วย
  17. ถังแก๊สที่กำลังใช้ ถ้าอยู่ในห้องปฏิบัติการ จะต้องมีโซ่ล่ามติดกับผนังหรือกำแพง ถังอื่นๆรวมทั้งถังเปล่า ต้องนำออกไปเก็บไว้ภายนอกห้อง ที่เป็นสถานที่จัดเก็บโดยเฉพาะ
  18. อย่าให้วัตถุอันตราย โดยเฉพาะของเหลวไวไฟ ถูกกับความร้อนหรือแดดโดยตรง ความร้อนและแสงแดดจะทำให้สารเคมีเสื่อมสภาพ หรือทำให้ภาชนะและฉลากเสียหายลบเลือนได้
  19. อย่าเก็บวัตถุอันตราย (ยกเว้น สารทำความสะอาด) ไว้ในตู้อ่างน้ำ   

 

เพื่อนๆท่านใดที่สนใจเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับห้องแลบสามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามได้เลยนะครับ ทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านห้องแลบจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดให้กับเพื่อนๆทุกคนเลยครับ

ขอขอบคุณ Dr. Prapaipit C. Ternai   ( Laboratory Safety Design and Consultant ) ที่อนุญาตให้นำเนื้อหาส่วนหนึ่งของวารสาร The Lab มาเผยแพร่